ระบบน้ำหล่อเย็นเป็นระบบที่มีความจำเป็นอย่างมากในหลายอุตสาหกรรม เพื่อใช้ในการระบายความร้อนให้กับเครื่องจักร อย่างไรก็ตาม ปัญหาการเกิดการกัดกร่อนและการเกิดตะกรันเป็นปัญหาที่พบบ่อย และจะส่งผลกระทบตั้งแต่ความสามารถในการถ่ายเทความร้อนลดลง การเสื่อมสภาพของเครื่องจักร ไปจนถึงการปิดระบบเพื่อซ่อมแซม การเติมสารเคมีในระบบน้ำหล่อเย็นเพื่อลดปัญหาการกัดกร่อนและการเกิดตะกรันเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย อย่างไรก็ตาม สารเคมีที่ใช้ในการลดปัญหาดังกล่าว มักจะเป็นสารเคมีที่มีความเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม การนำสารสกัดจากธรรมชาติมาทำเป็นสารยับยั้งการกัดกร่อนและการเกิดตะกรันจึงได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เนื่องจากความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถหาได้ง่ายในพื้นที่ และมีราคาไม่แพงผลงานวิจัยนี้ เกี่ยวข้องกับการนำสารสกัดสีเสียดเทศมาทำเป็นสารยับยั้งการกัดกร่อนและยับยั้งการเกิดตะกรัน ผลของความเข้มข้นและอุณหภูมิที่มีต่อประสิทธิภาพในการยับยั้งการกัดกร่อนได้ถูกประเมินโดยใช้เหล็กกล้าคาร์บอน ในน้ำหล่อเย็นจำลองภายใต้สภาวะน้ำนิ่ง และประสิทธิภาพในการยับยั้งการเกิดตะกรันได้ถูกทดสอบตามมาตรฐานของ NACE TM 0374-2007 งานวิจัยนี้ดำเนินงานวิจัยโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มัณฑนา จริยาบูรณ์ ภาควิชาเคมี และ นายจิระพันธ์ เปลี่ยนเที่ยงธรรม นักศึกษาระดับปริญญาโท หลักสูตรวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมวัสดุ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลงานวิจัยนี้ได้แสดงให้เห็นว่า การเพิ่มความเข้มข้นของสารสกัดสีเสียดเทศจะส่งให้ประสิทธิภาพในการยับยั้งการกัดกร่อนเพิ่มขึ้น ประสิทธิภาพในการยับยั้งการกัดกร่อนที่สูงที่สุด คือ 70% ที่ความเข้มข้น 1500 ppm ที่อุณหภูมิ 40oC การดูดซับของสารสกัดบนโลหะจะช่วยป้องกันการกัดกร่อนของโลหะ ดังแสดงในรูป อย่างไรก็ตาม การเพิ่มอุณหภูมิของน้ำหล่อเย็นจาก 40oC ไปเป็น 60oC จะทำให้ประสิทธิภาพในการยับยั้งการกัดกร่อนลดลงจาก 70% เป็น 60% ที่ความเข้มข้น 1500 ppm ซึ่งแสดงถึงลักษณะการดูดซับของสารสกัดแบบกายภาพ นอกจากนั้นแล้ว ประสิทธิภาพในการยั้บยั้งการเกิดตะกรันของสีเสียดเทศอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างต่ำ คือ 31% ที่ความเข้มข้น 1500 ppm

Jiraphan Pleanteanteangthume and Manthana Jariyaboon, Effect of concentration and temperature on corrosion and scale inhibitive behavior of Uncaria gambir Extract for low-carbon steel in cooling-water solution, Surface Engineering and Applied Electrochemistry, 2020, Vol. 56, No. 6, p. 746-753.