ระบบน้ำหล่อเย็นแบบหมุนเวียนเป็นระบบที่มีความจำเป็นอย่างมากในหลายอุตสาหกรรม ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมอาหาร โดยมีหน้าที่ในการระบายความร้อนให้กับเครื่องจักรในโรงงาน ปัญหาที่พบบ่อยในระบบน้ำหล่อเย็น คือ การเกิดการกัดกร่อนและการเกิดตะกรัน โดยทั่วๆ ไป การเติมสารเคมีในระบบน้ำหล่อเย็นเพื่อลดปัญหาการกัดกร่อนและการเกิดตะกรันเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย อย่างไรก็ตาม สารเคมีที่ใช้ในการลดปัญหาดังกล่าว มักจะเป็นสารเคมีที่มีความเป็นพิษทั้งต่อผู้สัมผัสรวมทั้งสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การหาทางเลือกใหม่ที่เป็นมิตรต่อคนและสิ่งแวดล้อมจึงมีความจำเป็น การใช้สารสกัดจากส่วนต่างๆ ของพืช เช่น ใบ เปลือก เมล็ด สามารถนำมาใช้เป็นสารยับยั้งการกัดกร่อนและการเกิดตะกรันได้ เนื่องจากสารสกัดจากพืช มีองค์ประกอบสำคัญที่ทำหน้าที่ในการยั้บยั้งการกัดกร่อนและการเกิดตะกรันได้ ได้แก่ อิเล็กตรอนคู่โดดเดี่ยวของสารประกอบที่มีวงแหวงที่ประกอบด้วยอะตอมต่างชนิดกัน (ไนโตรเจน ออกซิเจน ซัลเฟอร์) และไพอิเล็กตรอนในสารประกอบแอโรแมติก เป็นต้นผลงานวิจัยนี้ เกี่ยวข้องกับการนำสารสกัดใบมันสำปะหลังซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร มาทำเป็นสารยับยั้งการกัดกร่อนและยับยั้งการเกิดตะกรัน ประสิทธิภาพในการยั้บยั้งการกัดกร่อนของสารสกัดใบมันสำปะหลังได้ถูกประเมินโดยใช้เหล็กกล้าคาร์บอน (เป็นวัสดุที่นิยมใช้ในการสร้างระบบน้ำหล่อเย็น) ในระบบน้ำหล่อเย็นจำลอง ดังแสดงในรูป และประสิทธิภาพในการยับยั้งการเกิดตะกรันได้ถูกทดสอบตามมาตรฐานของ NACE TM 0374-2007 งานวิจัยนี้ดำเนินงานวิจัยโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มัณฑนา จริยาบูรณ์ ภาควิชาเคมี และ นายจารุวิทย์ โลหิตกาญจน์ นักศึกษาระดับปริญญาโท หลักสูตรวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมวัสดุ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้การสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยมหิดล

     งานวิจัยนี้ได้แสดงให้เห็นว่า สารสกัดใบมันสำปะหลังเข้มข้น 200 ppm สามารถยับยั้งการกัดกร่อนได้ 75.7% ที่อุณหภูมิ 55oC และที่อัตราการไหลของน้ำ 34 L/min และสารสกัดใบมันสำปะหลังเข้มข้น 2000 ppm สามารถยับยั้งการเกิดตะกรันได้ 76.1% โดยที่กลไกหลักในการยั้บยั้ง คือ การดูดซับของสารสกัดบนโลหะและบนตะกรัน

Jaruwit Lohitkarn, Pattamaporn Hemwech, Rattikan Chantiwas, Manthana Jariyaboon, The role of cassava extract as green inhibitor for controlling corrosion and scale problems in cooling water systems, Journal of Failure Analysis and Prevention, 2021, http://doi.org/10.1007/s11668-021-01121-x